วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ฟ้อนสาวไหม(แม่เมาะวิทยา)

ฟ้อนสาวไหม เป็นศิลปะการฟ้อนรำประเภทหนึ่งของชาวล้านนาที่มีพัฒนาการทางรูปแบบมาจากการ เลียนแบบอากัปกิริยาการสาวไหม ผู้ฟ้อนส่วนใหญ่มักเป็นหญิงสาว ลีลาในการฟ้อนดูอ่อนช้อยและงดงามยิ่ง          
 ฟ้อนสาวไหมเป็นฟ้อนทางภาคเหนือ ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ได้ปรับปรุงสืบทอด มาจาก ครูพลอยศรี สรรพศรี ทั้งนี้ ครูพลอยศรีได้ถ่ายแบบรับท่ามาจากหญิงชาวบ้านที่จังหวัดเชียงราย ชื่อ บัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ซึ่งคุณบัวเรียวก็ได้เรียนการฟ้อนนี้มาจากบิดาของตนอีกทีหนึ่ง
ผู้แสดง         ใช้ผู้หญิงแสดงจำนวนเท่าไรก็ได้ ปัจจุบันก็มีผู้ชายเข้ามาแสดงด้วยก็มี
การแต่งกาย  แต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้
การแสดง     เริ่มจากการแสดงท่าหักร้างถางพง เพาะปลูกฝ้ายและหม่อน ซึ่งเป็นการแสดงของช่างฟ้อนชาย เพิ่งเพิ่มเข้ามาภายหลัง  ต่อจากนั้นก็เป็นท่วงท่าในการฟ้อนสาวไหมเริ่มจาก ท่าเลือกไหม ดึงไหมออกจากรัง ม้วนไหม สาวไหมออกจากตัว ไหล่ ศีรษะ เท้า ม้วนไหมใต้ศอก พุ่งกระสวย กรอไหม พาดไหม ป๊อกไหม จนกระทั่งชื่นชมกับผ้าที่ทอสำเร็จแล้ว
ดนตรี      ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน จะใช้วงดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีสะล้อ ซอ ซึง เพลงร้องมักไม่นิยมมี จะมีแต่เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ แต่เดิมที่บิดาของคุณบัวเรียวใช้นั้นเป็นเพลงปราสาทไหว ส่วนคุณบัวเรียวจะใช้เพลงลาวสมเด็จ เมื่อมีการถ่ายทอดมาครูนาฎศิลป์ได้เลือกสรรใช้เพลง "ซอปั่นฝ้าย" ซึ่งมีท่วงทำนองเป็นเพลงซอทำนองหนึ่งที่นิยมกันในจังหวัดน่าน และมีลีลาที่สอดคล้องกับการฟ้อนสาวไหมอย่างงดงามยิ่ง
สถานที่แสดง    ไม่จำกัดเวที
โอกาสที่แสดง   แสดงได้ทุกโอกาส และในงานเทศกาลหรืองานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ


ฟ้อนกลายลาย (อ่านฟ้อนก๋ายลาย)หรือฟ้อนเมืองกลายลาย ชื่อของการฟ้อนแบบนี้ น่าจะหมายถึงฟ้อนพื้นบ้านที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนท่าฟ้อนโดยนำลีลาท่าฟ้อนเชิง (ลาย) เข้าไปผสมผสานกับท่าฟ้อนรำ ทั้งนี้เพระ ฟ้อนเมือง หมายถึง การฟ้อนพื้นเมืองล้านนากลายหมายถึงการเปลี่ยนแปลง (ลีลาท่าฟ้อน) และ ลาย มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า เชิง ในที่นี้หมายถึงลีลาการร่ายรำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวล้านนา